เกี่ยวกับการบริการทางวิชาการ
การบริการทางวิชาการ หมายถึง กิจกรรมหรือโครงการทางวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการแก่สังคม/ชุมชน โดยเป็นกิจกรรม/โครงการที่ดำเนินตามความถนัดในด้านที่สถาบันมีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความยั่งยืนของชุมชน/สังคม นอกจากนี้การบริการวิชาการยังเป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการและเพื่อให้การบริการวิชาการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพทางมหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษานำความรู้ที่ได้จากการเรียนและการสอนทั้งในเชิงหลักการ ทฤษฎี และเชิงปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการวิชาการแก่ ชุมชน สังคม ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมทั้งมีการติดตาม ประเมิน และนำผลจากการบริการวิชาการที่ได้มาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแก่ชุมชนและองค์กรภายในด้านต่างๆ เช่น ด้านการสร้างคุณค่า ด้านองค์ความรู้ เป็นต้น ทำให้ชุมชน/สังคมสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง และสร้างแรงในการขับเคลื่อนสังคมตามแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ โดยการบริการวิชาการแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ 1) การบริการวิชาการทั่วไป และ 2)การบริการวิชาการแบบเฉพาะเจาะจง มีรายละเอียดดังนี้
- การบริการวิชาการทั่วไป คือ การให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นกิจกรรมหรือโครงการจัดทำขึ้นตามความเหมาะสมและความต้องการทั่วไปของสังคม/ชุมชน เช่น การให้คำปรึกษา การจัดอบรม จัดประชุมหรือสัมมนาวิชาการ เพื่อชี้แนะหรือตอบสนองความต้องการสังคม เป็นต้น
- การบริการวิชาการแบบเฉพาะเจาะจง คือ การให้บริการวิชาการแก่สังคม/ชุมชน ตามที่หน่วยงานต่าง ๆ มีการประสานงานขอรับบริการ ซึ่งการบริการวิชาการแบบเฉพาะเจาะจง จำแนกออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- การบริการเฉพาะเจาะจงแบบให้เปล่า คือ การให้บริการที่ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานที่ร้องขอโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น การดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง การจัดการขยะชุมชน เป็นต้น
- การบริการเฉพาะเจาะจงแบบมีรายได้ คือ การบริการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กร/สถาบัน พร้อมทั้งตอบสนองและสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่น/ชุมชน/สังคม/ประเทศ เช่น โครงการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ที่ตอบสนองนโยบายรัฐและรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต เป็นต้น